รู้จักน้ำนมแม่ 3 ระยะ

‘นมแม่’ เป็นแหล่งอาหารและยาที่อุดมด้วยคุณประโยชน์ต่อลูกน้อย ที่ไม่ว่านมผงหรืออาหารเสริมชนิดไหนๆ ก็เทียบไม่ได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรให้ทารกทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หรือถ้าจะให้ดีที่สุดคุณแม่ก็ควรให้นมลูกต่อเนื่องไปอีก 1 – 2 ปี เพราะนอกจากน้ำนมแม่จะมีคุณค่าทางอาหารสูงมากแล้ว ยังมีความจำเป็นต่อร่างกายและสภาพแวดล้อมของทารก อีกทั้งสารอาหารในน้ำนมยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาเพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกน้อยด้วย
ตามปกติน้ำนมแม่จะแบ่งตามช่วงเวลาการสร้างได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • นมแม่ระยะที่ 1 : ระยะหัวน้ำนม หรือ Colostrums

น้ำนมช่วงนี้จะมีสีเหลือง โดยน้ำนมเหลืองจะถูกสร้างในช่วง 1 – 3 วันแรกหลังคลอด ถือเป็นน้ำนมที่ดีที่สุด มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้เพื่อช่วยขับถ่ายขี้เทาออก ป้องกันอาการตัวเหลืองที่อาจเกิดขึ้นและมีภูมิคุ้มกันที่สำคัญของลูกน้อย อาทิเช่น อิมมูโนโกลบูลิน A (IgA) แลคโตเฟอริน และเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อของลูกตั้งแต่แรกเกิด มีปริมาณแร่ธาตุต่างๆ เช่น โซเดียม แมกนีเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย

  • นมแม่ระยะที่ 2 : ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน หรือ Transitional milk

เป็นช่วงที่น้ำนมจะเริ่มมีสีขาวขึ้น โดยจะถูกสร้างในช่วงวันที่ 4 จนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลงทันที ทำให้โปรแลกตินซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งน้ำนมออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกว่าเต้านมตึงขึ้น จึงต้องกระตุ้นให้ลูกกินนมจากอกทุก 2 – 3 ชั่วโมง น้ำนมในระยะนี้จะมีไขมันมากขึ้นและประกอบไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย ซึ่งช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของทารก

  • นมแม่ระยะที่ 3 : ระยะน้ำนมแม่ หรือ Mature milk

น้ำนมในระยะนี้จะถูกสร้างใน 10 วันหลังคลอด เป็นน้ำนมสมบูรณ์ที่อุดมด้วยโปรตีน ไขมัน น้ำตาลแลคโตส วิตามิน และแร่ธาตุนานาชนิด ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกน้อยให้สมบูรณ์แข็งแรง ในระยะนี้การทำงานของฮอร์โมนจะมีอิทธิพลต่อน้ำนมน้อยลง การให้ลูกกินนมจนเกลี้ยงเต้า จะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้น โดยส่วนประกอบในน้ำนมแม่แต่ละคนก็อาจมีสัดส่วนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย น้ำหนักตัวของแม่ และอาหารที่แม่ทานด้วย