โภชนาการก่อนคลอดของคุณแม่สำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร

เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “โภชนาการที่ดี” อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพที่จะส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่และยังช่วยบำรุงทารกในครรภ์ให้เติบโตแข็งแรงตามพัฒนาการ ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ยิ่งตั้งครรภ์ยิ่งต้องบำรุงร่างกายมากขึ้น เพราะสารอาหารจากคุณแม่จะถูกแบ่งไปให้ทารกในครรภ์ด้วย เพื่อให้ลูกสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบทุกหมู่เป็นประจำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ สารอาหารที่ต้องให้ความสำคัญมีอะไรบ้างมาดูกัน

1.โปรตีน สารอาหารสำคัญต่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและสมองของทารกในครรภ์ ทานแล้วอยู่ท้อง ช่วยลดความอยากอาหารบ่อยๆ นอกจากนี้ยังช่วยให้เต้านมและมดลูกของคุณแม่ขยายตัวในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย

  • แหล่งสารอาหาร : เนื้อสัตว์, ไข่, ปลา, นม
  • ปริมาณความต้องการเพิ่ม : 60 มิลลิกรัมต่อวัน

2.แคลเซียม คือแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและระบบควบคุมของเหลวในร่างกายของทารก คุณแม่ควรทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างต่อเนื่องไปจนคลอด เพราะถ้าร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอจะทำให้กระดูกแข็งแรงและลดการเกิดตะคริว

  • แหล่งสารอาหาร : นม, ผักใบเขียว, เต้าหู้, ปลาตัวเล็ก
  • ปริมาณความต้องการเพิ่ม : 1200 มิลลิกรัมต่อวัน

3.ธาตุเหล็ก จำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดที่เพิ่มจำนวนอย่างมากในคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อใช้ลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ถ้าร่างกายคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์

  • แหล่งสารอาหาร : เครื่องในสัตว์, ตับ, ผลไม้, ธัญพืช
  • ปริมาณความต้องการเพิ่ม : 30 มิลลิกรัมต่อวัน

4.โฟเลต (กรดโฟลิก) เป็นสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์แรกๆหรือในระหว่างเตรียมตัวตั้งครรภ์ เพราะเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และเป็นตัวช่วยในการสร้างเซลล์สมองของทารก ถ้าคุณแม่ได้รับกรดโฟลิกไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้

  • แหล่งสารอาหาร : ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม ถั่ว อะโวคาโด
  • ปริมาณความต้องการเพิ่ม : 400 มิลลิกรัมต่อวัน