4 เรื่องที่ต้องทำเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์

1. พบคุณหมอ

ว่าที่คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบและยืนยันเรื่องการตั้งครรภ์ หากยังไม่แน่ใจเมื่อตรวจจากชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งหากพบว่าตั้งท้องคุณหมอจะแนะนำขั้นตอนการฝากครรภ์ เข้าสู่กระบวนการของการมีลูก โดยนัดหมายเพื่อเข้ามาตรวจในแต่ละเดือน และประมาณ 10 สัปดาห์ ก็จะสามารถทำอัลตร้าซาวด์ที่ได้ผลความแม่นยำเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ถ้าคุณแม่มียาประจำที่ต้องทาน ควรปรึกษาแพทย์เรื่องยาประจำตัวและอาการป่วยต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์

2. เปลี่ยนนิสัยการกินดื่มที่เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ

  • เลิกบุหรี่
    ถ้าคุณสูบบุหรี่ ควรเลิกเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ การเลิกบุหรี่ ลดความเสี่ยงและอันตรายต่าง ๆ เช่น การคลอดบุตรยาก คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือการไหลตายในทารก
  • หยุดดื่มแอลกอฮอล์
    งานวิจัยของ JAMA pediatrics 2017 พบว่าคุณแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ มีถึง 1 ใน 13 ทารก ที่เกิดมามีอาการ Fatal Alcohol Spectrum Disorder (FASD) FASD มีอาการหลากหลาย เช่น พิการแต่กำเนิด สมาธิสั้น มีปัญหาด้านการเรียน จนไปถึงอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ สุรายังเป็นสาเหตุหลักของทารกปัญญาอ่อน ที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมอีกด้วย
  • ลด/งด คาเฟอีน
    คาเฟอีนพบได้ทั้งในกาแฟ ช็อคโกแลต และน้ำอัดลม คาเฟอีนเป็นสารที่มีฤทธิ์ไปกระตุ้นประสาทส่วนกลางและเร่งระบบเผาผลาญในร่างกาย นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะและแคลเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยพัฒนาการทางร่างกายและการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของลูกในท้อง คุณแม่สามารถรับคาเฟอีนได้แต่ในปริมานไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หากคุณแม่รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการใจสั่น ปวดหัวและนอนไม่หลับ หากแม่ท้องดื่มกาแฟ ลูกในท้องก็จะได้รับคาเฟอีนผ่านทางสายรก ทำให้ได้รับคาเฟอีนส่งตรงจากแม่และส่งผลต่อร่างกายเหมือนกัน แต่จะไม่ส่งผลต่อความพิการ สติปัญญา หรือสีผิวของลูก มีการวิจัยชี้ชัดด้วยกว่าคาเฟอีนส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของทารกที่อยู่ในท้องแม่ที่ดื่มกาแฟมากเกินไป

3. ควรเริ่มรับประทานกรดโฟลิคและวิตามินต่าง ๆ

ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายของว่าที่คุณแม่นั้นต้องการสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้น บางคนอาจแพ้ท้องจนทานได้ไม่เยอะ หรืออาจทานอาหารได้ไม่หลากหลาย ว่าที่คุณแม่ควรทานวิตามินต่าง ๆ เสริม เช่น วิตามินบี วิตามินดี วิตามินกรดโฟลิค (Folic acid)

กรดโฟลิคนั้นถือเป็นวิตามินที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ท้อง เนื่องจากกรดโฟลิคจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิดในทารกในครรภ์ ซึ่งหากเกิดภาวะนี้ จะทำให้การพัฒนากระดูกหลังและไขสันหลังและการพัฒนาของสมองส่วนสำคัญในทารกไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทารกที่เกิดมา จะมีอาการพิการหรือมีชีวิตไม่ยืนยาวได้ ซึ่งปริมาณของกรดโฟลิคที่คุณแม่ควรได้รับในช่วง 3 เดือนแรก คือ 400  ไมโครกรัมต่อวัน และ 4-9 เดือนควรได้รับ  600 ไมโครกรัมต่อวัน และควรทานต่อเนื่องหลังไปจนถึงช่วงให้นมบุตรในปริมาณ 500 ไมโครกรัมต่อวัน

4.หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างขณะตั้งครรภ์

อาหารที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงคือ

  • อาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋อง
    เนื่องจากมีสารเคมีเจือปน และในอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องบางชนิดนั้นอาจมีปริมาณผงชูรสมาก ทำให้ร่างกายขาดน้ำและปวดศรีษะได้
  • อาหารจำพวกปลาดิบและเนื้อดิบต่าง ๆ
    คุณแม่ท้องควรทานอาหารที่ปรุงสุก เนื่องจากปลาดิบและเนื้อดิบต่าง ๆ อาจมีการปนเปื้อนของพยาธิและเชื้อจุลินทรีย์
  • อาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ 
    แม่ท้องที่มีอาการแพ้อาหารควรระมัดระวังในการกิน เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแพ้มากขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน
  • อาหารไขมันสูง
    การรับประทานอาหารที่ไขมันสูงจะทำให้แน่นท้อง ท้องอืด เพราะย่อยยาก ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักตัวของคุณแม่ขึ้นง่าย

    การทานอาหารที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพและยังช่วยในการควบคุมน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ แม้ว่าว่าที่คุณแม่จะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทานอาหารในปริมาณมากกว่าเดิม คุณแม่ควรพักผ่อนมาก ๆ และเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ